ไลโคปีน สารสีแดงเพื่อผิวพรรณและสุขภาพ
ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารสีแดงที่อยู่ในผักและผลไม้บางชนิดโดยเฉพาะใน มะเชือเทศ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่เป็นหน่วยย่อยของแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งไลโคปีนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการบำรุงผิวพรรณ
หลายคนอาจเข้าใจว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้พบได้เฉพาะในมะเขือเทศ แต่ความจริงแล้วไลโคปีนสามารถพบได้ในผักผลไม้ชนิดอื่นด้วย รวมทั้งไม่ได้มีสรรพคุณช่วยบำรุงและปกป้องผิวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่ชี้ว่า Lycopene อาจช่วยบรรเทาภาวะความดันโลหิตสูงและลดระดับไขมันในเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด
ประโยชน์ของไลโคปีน
ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ช่วยในการปรับสมดุลของกระบวนการในร่างกาย จึงทำให้ไลโคปีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพในการ ช่วยปกป้องผิว โดยปกติแล้ว ผิวพรรณที่สวยงามมักมีพื้นฐานมาจากผิวที่แข็งแรงและสุขภาพดี ซึ่งการดูแลผิวให้แข็งอยู่เสมออาจช่วยป้องกันปัญหาผิวที่เกิดขึ้นได้ แต่มลภาวะอย่างแสงแดดถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผิวไม่น้อย เพราะการโดนแดดแรงอาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้แดด ส่งผลให้สีผิวคล้ำขึ้นและสารอีลาสตินที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของผิวลดลง โดยมีการศึกษาพบว่าสารสีแดงชนิดนี้อาจช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดได้
จากการศึกษาสรรพคุณของสารต้านอนุมูลอิสระประเภทแคโรทีนอยด์ที่รวมถึงไลโคปีนด้วย พบว่าแคโรทีนอยด์นั้นอาจช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดผื่นแดง แสบ และผิวอักเสบได้ ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีแคโรนอยด์เป็นส่วนประกอบก็อาจช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรงและทนทานต่อแสงแดดมากยิ่งขึ้น จึงอาจช่วยลดปัญหาผิวไวต่อแดดได้ อย่างไรก็ตาม การรับประทานสารอาหารเหล่านี้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงควรเลือกใช้วิธีกันแดดแบบอื่น ๆ อย่างทาครีมกันแดดหรือสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อต้องออกแดดด้วย
แหล่งที่พบไลโคปีนมาก
หลายคนอาจทราบดี ไลโคปีนพบได้ในมะเขือเทศ โดยในมะเขือเทศสดปริมาณ 100 กรัมอาจมีไลโคปีน 3 มิลลิกรัม ส่วนมะเขือเทศอบแห้งในปริมาณเดียวกันอาจมีสารชนิดนี้ถึง 46 มิลลิกรัม สาเหตุที่มะเขือเทศอบแห้งนั้นมีปริมาณสูงกว่าก็เพราะว่าไลโคปีนจะถูกย่อยและดูดซึมได้ง่ายขึ้นเมื่อผ่านความร้อน โดยเฉพาะการปรุงที่ใช้น้ำมัน ซึ่งซอสมะเขือเทศและน้ำมะเขือเทศก็มีสารนี้ในปริมาณที่สูงกว่ามะเขือเทศสดเช่นกัน นอกจากมะเขือเทศแล้ว ยังอาจพบสารต้านอนมูลอิสระชนิดนี้ได้จากผลไม้ อย่างแตงโม ฝรั่งสีชมพู และมะละกอ แต่อาจพบในปริมาณน้อยกว่ามะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว
ส่วนความปลอดภัยในการรับประทานไลโคปีน ส่วนใหญ่แล้วหากไม่มีอาการแพ้อาหารเหล่านั้น สารที่ได้รับจากอาหารมักไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ซึ่งมีการศึกษาหนึ่งแนะนำว่าเราควรได้รับไลโคปีน 9-21 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากบริโภคอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนในแต่ละวันก็อาจช่วยให้ได้รับไลโคปีนอย่างเพียงพอแล้ว สำหรับการใช้ไลโคปีนในรูปแบบอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็น ปริมาณ และวิธีในการใช้ที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย
อ้างอิง Pobpad