ทำความรู้จัก “ลมพิษ” พร้อมวิธีป้องกันและลดผื่นคันในช่วงซัมเมอร์
ความสุขของการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ผืนป่า ท้องทะเล หรือกิจกรรมแคมป์ปิงที่กำลังอินเทรนด์อย่างมาก เป็นภาพฝันที่หลายคนอยากจะใช้เวลาวันหยุดพักผ่อนไปนอนเอนกายเพื่อคลายความเหนื่อยล้า แต่แล้วอยู่ดี ๆ คุณหรือครอบครัวก็เกิดผื่นลมพิษขึ้นตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ และทำให้วันหยุดหมดสนุกไปโดยปริยาย
เรามาทำความรู้จัก “ลมพิษ” หรือผื่นผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดได้ทุกเพศทุกวัย ผื่นลมพิษเกิดจากสาเหตุใด อาการของลมพิษ และลมพิษอันตรายหรือไม่? รวมถึงมีวิธีป้องกันตัวเองจากลมพิษอย่างไร? จะได้เที่ยวสนุกในทุกเส้นทาง
ลมพิษ คืออะไร?
ลมพิษ” (Urticaria หรือ Hives) มีลักษณะเป็นผื่นคัน นูน แดง ไม่มีขุย หรือเป็นปื้นแดงกระจายตามผิวหนังบริเวณแขน ขา ลำตัว ศีรษะ ใบหน้า หรือเป็นผื่นคันทั้งตัว ผื่นลมพิษมีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 เซ็นติเมตร ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเด็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่แข็งแรงดีพอ จนถึงผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ถึง 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ ผื่นลมพิษอาจเกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือแพ้ยาบางชนิด โดยส่วนใหญ่แล้วผื่นลมพิษมักจะหายไปเองภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมงจนไม่เหลือร่องรอยใด ๆ รวมถึงผื่นลมพิษอาจจะย้ายตำแหน่งไปเรื่อย ๆ ก็ได้เช่นกัน
แต่หากมีอาการรุนแรงที่เรียกว่า “ลมพิษชนิดบวม” (Angioedema) ซึ่งเป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง มักพบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย เช่น รอบดวงตา ริมฝีปาก ลิ้น มือ เท้า และอวัยวะเพศ ลักษณะคล้ายผื่นลมพิษแต่มีขนาดใหญ่และอาการรุนแรงมากกว่า โดยลมพิษชนิดบวมสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในได้ด้วย เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ฯลฯ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาเจียน รวมถึงอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาการบวมบริเวณหลอดลม ทำให้หายไม่ใจออกและเป็นอันตรายได้
ผื่นลมพิษ แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
อาการของโรคผื่นลมพิษ สามารถแบ่งตามอาการและระยะเวลาของการเกิดผื่นคันได้ 2 ประเภทหลัก คือ
ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) อาการผื่นลมพิษจะเกิดต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) อาการผื่นลมพิษจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นนานติดต่อกันมากกว่า 6 สัปดาห์
อาการผื่นแดงคันจากลมพิษ เกิดจากสาเหตุใด?
แม้ว่าลมพิษมักจะเกิดจากปฏิกิริยาของภูมิแพ้ อาการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแมลงสัตว์กัดต่อย แต่ก็มีหลายกรณีที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดผื่นลมพิษที่ชัดเจนได้ หากลมพิษเกิดจากอาการแพ้คุณต้องค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้ให้เจอ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดผื่นลมพิษในอนาคต ทว่าบางกรณีผื่นลมพิษอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วผื่นลมพิษมักจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้
แพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล แพ้สีผสมอาหาร แพ้สารปนเปื้อน แพ้สารกันบูด ฯลฯ
แพ้ยาบางชนิด เช่น เพนิซิลลิน แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และนาโพรเซน โซเดียม ฯลฯ
แพ้ขนสัตว์ ละอองเกสร สมุนไพร สารเคมี หรือผื่นแพ้จากการสัมผัส
ผื่นลมพิษจากการตอบสนองผิดปกติของผิวหนัง เช่น แพ้อากาศร้อน ความเย็น แพ้เหงื่อ ความอับชื้นจากการกดทับ หรือการออกกำลังกาย
ผื่นลมพิษจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
สัญญาณเตือนของโรคร้ายแรง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคมะเร็ง การติดเชื้อเรื้อรัง หรือโรคลูปัส
ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง อาจจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนังและเกิดผื่นลมพิษ
การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ความวิตกกังวล และภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
หากคุณมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ใบหน้าบวม ปากบวม หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด อาเจียน หรือความดันโลหิตต่ำ จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที หากเป็นลมพิษต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ หรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: ผื่นคันคืออะไร พร้อมเคล็ดลับในการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
วิธีรักษาผื่นลมพิษ
ผื่นลมพิษสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าคุณมีอาการคันและปื้นนูนแดงสามารถรักษาอาการผื่นคันจากลมพิษที่ไม่รุนแรงได้ด้วยวิธีการเหล่านี้
รับประทานยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เช่น เซทิริซีน (Zyrtec), ไดเฟนไฮดรามีน (Benadryl) และลอราทาดีน (Loratadine) สามารถช่วยลดอาการผื่นลมพิษได้ หรือรับประทานยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงนอน แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งก่อนซื้อยา และควรแจ้งให้ทราบหากคุณมีอาการแพ้ยาบางชนิด
ทาครีมบำรุงผิวสูตรปราศจากน้ำหอม คาลาไมน์โลชั่น หรือแป้งที่มีส่วนผสมของเมนทอล เพื่อบรรเทาอาการผื่นคัน แนะนำ แป้งเย็นโพรเทคส์ สูตรเมนทอล แคปซูล คูล บลู ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียบนผิว ให้คุณรู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายสบายผิว ผ่านการรับรองจากแพทย์ผิวหนังแล้วว่า อ่อนโยนต่อทุกสภาพผิว
กรณีที่อาการแพ้รุนแรงที่เกิดจากลมพิษเฉียบพลัน แพทย์อาจสั่งยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการผื่นลมพิษ
กรณีที่เป็นลมพิษเรื้อรัง แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงนอน เพื่อบรรเทาอาการผื่น คัน บวม แดง และอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลมพิษเรื้อรังได้
หากคุณมีอาการรุนแรงร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง บวมบริเวณใบหน้า รอบดวงตา และริมฝีปาก รวมถึงร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาแก้แพ้ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการแพ้รุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ข้อควรรู้: วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นลมพิษ
นอกจากการรับประทานยาแก้แพ้ การบำรุงผิวด้วยโลชั่นสูตรปราศจากน้ำหอมและอ่อนโยนต่อผิว หรือใช้คาลาไมน์โลชั่นเพื่อลดอาการผื่นคัน ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำวิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เมื่อเป็นลมพิษ ได้แก่
ไม่ควรเกาบริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้
ประคบเย็น หรือเจลเก็บความเย็น (Cold Pack) เพื่อบรรเทาอาการผื่นคันและนูนแดง
งดอาบน้ำอุ่น เพราะจะทำให้ผิวแห้งคันมากขึ้น
งดใช้สบู่ ครีมบำรุงผิว และน้ำหอม บริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ
ควรใช้ครีมอาบน้ำและครีมบำรุงผิวสูตรปราศจากน้ำหอม เพื่อลดการกระตุ้นให้อาการแพ้รุนแรงมากขึ้น
ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ค้นหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียด
สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี
ใช้ครีมว่านหางจระเข้ เพื่อบรรเทาอาการผื่นคัน
ที่สำคัญควรหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษให้เจอ เพื่อป้องกันอาการแพ้และผื่นลมพิษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และควรเตรียมยาแก้แพ้ให้พร้อมหากต้องเดินทางไกลไปทะเลหรือภูเขา ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีในวันแดดร้อน พกพาสมุนไพรหรือสเปรย์ป้องกันแมลง และควรพกแป้งเย็นสูตรเมนทอล ครีมอาบน้ำสูตรกำจัดแบคทีเรียและสิ่งสกปรกได้อย่างล้ำลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสูตรปราศจากน้ำหอม เพื่อบรรเทาอาการแพ้ ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น และช่วยให้สุขภาพผิวดีอยู่เสมอ
คำถามที่พบบ่อย
1. อาการผื่นลมพิษ เป็นอย่างไร?
ผื่นลมพิษมีลักษณะเป็นผื่นคัน นูน แดง ไม่มีขุย หรือเป็นปื้นแดงกระจายตามผิวหนังบริเวณแขน ขา ลำตัว ศีรษะ ใบหน้า หรือเป็นผื่นคันทั้งตัว ผื่นลมพิษมีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 เซ็นติเมตร และบางครั้งอาจจะรู้สึกแสบร้อนร่วมด้วย
2. ลมพิษมีกี่ประเภท และมีลักษณะเฉพาะอย่างไร?
ลมพิษสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ลมพิษเฉียบพลันและลมพิษเรื้อรัง ลมพิษเฉียบพลันมักจะหายเองภายในไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักเกิดจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนลมพิษเรื้อรังจะเป็นนานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
3. ลมพิษ เกิดจากสาเหตุใด?
ลมพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แมลงสัตว์กัดต่อย ขนสัตว์ แพ้ละอองเกสร หรือได้รับสิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม บางกรณีลมพิษอาจถูกกระตุ้นโดยปัจจัยที่ไม่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ความเครียด อากาศร้อน หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น
4. ยาที่ใช้ในการรักษาอาการลมพิษ มีอะไรบ้าง?
ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เช่น เซทิริซีน (Zyrtec), ไดเฟนไฮดรามีน (Benadryl) และลอราทาดีน (Loratadine) สามารถช่วยลดอาการคันและบวมได้ นอกจากนี้ การประคบเย็น ทาครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของคาลาไมน์ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการคันได้
5. วิธีป้องกันการเกิดลมพิษได้อย่างไร?
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษ การจัดการความเครียด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ